วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

หนังตะลุง

ความเป็นมา
วัฒนธรรมการเล่นหนังหรือละครเงา (Shadow Plays) ปรากฏในแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่ของโลกมาแต่โบราณ เช่น อียิปต์ จีน อินเดีย และเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปหนังที่ใช้เล่นมี 2 แบบ คือ ชนิดที่ส่วนแขนติดกับลำตัว มีขนาดใหญ่ เช่น หนังใหญ่ของไทย และหนังสเบก (Nang Sbek) ของเขมร และชนิดที่ส่วนแขนฉลุแยกจากส่วนลำตัวแต่ร้อยหมุดให้ติดกัน เคลื่อนไหวได้ เช่น หนังอยอง (Nang Ayong Jawa) ของชวา และหนังตะลุงของไทย

หนังตะลุงเป็นการเล่นที่มีมาแต่โบราณ จึงไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด และมีข้อสันนิษฐานต่างกันหลายกระแส เช่น เสริมวิทย เรณุมาศ เห็นว่าเรารับวิธีการแสดงหนังตะลุงมาจากชวา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย) โดยชวารับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง หนังชวาผ่านมาทางมลายูและมาเริ่มขึ้นในภาคใต้ที่บ้านควนพร้าว จังหวัดพัทลุง อนึ่ง เหตุที่ได้ชื่อว่าหนังตะลุงน่าจะสันนิษฐานได้ 3 ทาง คือ
  1. มาจาก หนังไทลุง (ไทลุง คือ ไทยที่อพยพมาอยู่ทางภาคใต้)
  2. มาจาก หนังฉะลุง ฉะลุง หมายถึง เสาผูกช้าง ครั้งแรกที่หนังแขกเข้ามาแสดงได้ขึงจอกับเสาผูกช้าง ต่อมาเพี้ยนเสียง ฉะลุง เป็นตะลุง
  3. มาจาก หนังพัทลุง คือ เมื่อ พ.ศ.2419 พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค) นำหนังจากพัทลุงไปแสดงถวายทอดพระเนตรที่บางปะอิน ชาวภาคกลางทราบว่าหนังไปจากพัทลุงจึงเรียกว่า หนังตะลุง
จากบทกาศครูหนังตะลุง หลายสำนวนกล่าวถึงความเป็นมาของหนังตะลุงไว้ทำนองเดียวกันว่า ตาหนักทอง (บางสำนวนว่า ตาฟักทอง) ตาก้อนทอง (บางสำนวนว่า ตาหนุ้ย) ทหารประจำกองช้างเมืองนครศรีธรรมราชได้เห็นหนังแขกที่เมืองยะโฮร์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย) เกิดชอบใจจึงนำมาเล่นในกองช้าง ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า ตะลุง หรือ หลุง เช่น

"ครูฝักทองก้นทองสองครูเฒ่า เป็นครูแรกเดิมกล่าวนานหนักหนา
เลียนเอาอย่างอ้างเอาแบบแอบเอามา จากชวาคิดเล่นเป็นทำนอง
ตามภาษาปราชญ์รักในปักษ์ใต้ เมื่อมีงานการแล้วได้เล่นฉลอง
แบบครั้งกรุงศรีวิชัยได้ปกครอง ด้ามขวานทองเมืองนครโบราณกาล
กองช้างศึกนครศรีก็มีครบ ครั้นว่างรบแล้วบรรดาโยธาหาญ
สร้างตะลุงหลุงลำประจำการ พนักงานหนังตะลุงสนุกกลาง
เอาไม้ไผ่สี่ลำทำจอหนัง ผ้าขาวบังข้างในไฟสว่าง
รูปสมมติขุดกับหนังโคบางบาง เอาตัวอย่างแบบวายังหนังชวา"

"ตะลุงหมายถึงหลักปักล่ามช้าง โบราณอ้างเรียกว่าตะลุงหลุง
ที่ช้างพักหลักตั้งหนังตะลุง แรกคราวกรุงศรีวิชัยเมืองนคร
ราชธานีนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์แห่งธานีมีนุสรณ์
ประเทศไทยปักษ์ใต้ฝ่ายนคร สมัยก่อนถึงยะโฮร์แรกโบราณ
ทางการไทยไปยะโฮร์ต้องขี่ช้าง การเดินทางเป็นกระบวนล้วนทหาร
ถึงที่นั้นต้องรับเป็นทางการ ต้องมีงานสนุกทุกครั้งไป
จำเชิงเช่นจอมจิตคิดเลื่อมใส ตาหนักทองก้อนทองกองช้างไทย
ความสนใจลองเล่นเป็นพิธี เริ่มแรกเล่นเป็นตะลุงช้าง
จะต้องอ้างเอาเป็นหลักเป็นสักขี คำไหว้ครูผู้เฒ่าเข้าพิธี
ผ้าขาวสี่มุมตึงขึงจอบัง ใช้ไม้ไผ่สี่ลำทำเป็นจอ
ขึงสี่มุมหุ้มห่อเรียกจอหนัง ข้างภายในห้อยตะเกียงเหวี่ยงระวัง
แล้วใช้หนังโคทำจำลองคน"

เขมะชาติ กาฬสุวรรณ มีความเห็นว่า หนังตะลุงเกิดขึ้นที่เขายาโฮ้ง ตำบลชะรัตน์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ภูเขานี้บางคนออกเสียงเพี้ยนเป็น ยะโฮ ดังปรากฏใน บทพลายงาม ของโนราว่า

"ฝนตกข้างเหนือเหว โดนมันลงมาฉาฉา
แทงท่อลงมา โถกเขาพระยากรุงจีน
โถกข้างหัวนอน ทะลายไปข้างเกาะตีน
โถกเขาพระยากรุงจีน ต่อด้วยเชิงเขา"ยะโฮ"
พี่จะบ้าไปตามน้อง เหมือนเจ้าพลายทองมันตามโขลง
ช้างก็ไปไม่ลืมโรง โขลงไปไม่ลืมน้องหนา"

เมื่อเป็นดังนี้จึงเข้าใจว่าเป็นยะโฮร์ ในมาเลเซีย จริงๆ แล้วหนังตะลุงเกิดที่เขายะโฮ หรือยาโฮ้ง นี้เอง อนึ่งใกล้ๆ กับเขานี้ยังมีเขา หลักโค เล่าเป็นตำนานว่า พระอิศวรทรงล่ามโคอศุภราชที่เขานี้แล้วเริงระบำ เหตุนี้จึงเป็นที่มาของการออกรูปพระอิศวรที่หนังตะลุงเรียกว่า ออกโค

ธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่า "มหรสพหน้าขึ้นตาของชาวไทยในสมัยโบราณอีกอย่างหนึ่งคือ หนัง ซึ่งเราเรียกกันในภายหลังว่า หนังใหญ่ เพราะหนังตะลุงซึ่งเป็นหนังตัวเล็ก เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จึงเติมคำเรียกให้แตกต่างกันออกไป สำหรับหนังใหญ่ตามหลักฐานที่ปรากฎในสมุทรโฆษคำฉันท์บอกว่ามีมาก่อนสมัยพระนารายณ์ฯ" ดังนั้น ตามทรรศนะของธนิต อยู่โพธิ์ หนังตะลุงจึงเกิดขึ้นหลังรัชกาลดังกล่าว แต่จะเป็นช่วงใดไม่ได้สันนิษฐานไว้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า หนังตะลุงเป็นของใหม่ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวบ้านควนพร้าว จังหวัดพัทลุง คิดเอาอย่างหนังชวามาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อนแล้วแพร่หลายไปยังที่อื่น และในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เองที่หนังตะลุงได้แสดงถวายหน้าพระที่นั่งเป็นครั้งแรก เมื่อปีชวด พ.ศ.2419





สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ มีความเห็นว่า หนังตะลุงคงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่าจะคิดขึ้นเอง และคงเป็นวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่าจะคิดขึ้นเอง และคงเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มที่มีวัฒนธรรมอินเดียปนอยู่ด้วยโดยยกเหตุผลประกอบดังนี้
  1. การออกรูปฤาษีและรูปพระอิศวรของหนังตะลุงมักขึ้นต้นด้วย โอม ซึ่งเป็นคำแทนเทพเจ้าสามองค์ของพราหมณ์ (โอม มาจาก อ + ม อ = พระวิษณุ, อุ = พระศิวะ, ม = พระพรหม)
  2. รูปหนังตัวสำคัญ ๆ มีชื่อเป็นคำสันสกฤต เช่น ฤาษี อิศวร ยักษ์ นุด (มนุษย์ = รูปที่เป็นพระราชโอรสของเจ้าเมือง) ชื่อตัวประกอบที่เป็นภาษาบาลีสันสกฤตก็มี เช่น ทาสี เสหนา (เสนา)
  3. ลักษณะรูปหนังตัวสำคัญๆ มีสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอินเดีย เช่น พระราชาทรงศรหรือไม่ก็ทรงพระขรรค์เครื่องทรงของกษัตริย์ก็เป็นแบบอินเดีย รูปประกอบก็บอกลักษณะวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ปราสาท ราชวัง ต้นรัง (ต้นสาละ)
  4. ลักษณะนิสัยตัวละครบางตัวมีสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอินเดีย เช่น พระอินทร์คอยช่วยเหลือผู้ตกยาก มียักษ์เป็นตัวมาร ตัวละครบางตัวมีความรู้ทางไสยศาสตร์
  5. เนื้อเรื่องแบบโบราณจริงๆ นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนหลังแม้จะเล่นเรื่องอื่นๆ แต่ในพิธีแก้บนจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์
อุดม หนูทอง มีทรรศนะเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงว่า หนังตะลุงเป็นการเล่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมพราหมณ์อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากขนบนิยมในการแสดงและหลักฐานอื่นๆ ดังนี้
  1. เรื่องที่แสดง ปรากฏจากคำบอกเล่าและบทกลอนไหว้ครูหนังหลายสำนวนว่า เดิมทีหนังตะลุงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ดังตัวอย่างกลอนไหว้ครูของหนังอนันต์ตอนหนึ่งว่าเรื่องรามเกียรติ์เล่นแต่ตอนปลาย หนุมานพานารายณ์ไปลงกา"
     
  2. ลำดับขั้นตอนในการแสดง มีการออกลิงดำลิงขาวหรือ ออกลิงหัวค่ำ (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) ออกฤาษี ออกโค (ออกรูปพระอิศวรทรงโค) ออกรูปฉะ คือ รูปพระรามกับทศกัณฐ์ต่อสู้กัน (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) ธรรมเนียมเหล่านี้แสดงร่องรอยของอิทธิพลพราหมณ์ทั้งสิ้น